พันธกิจด้านการจัดการศึกษาของพระศาสนจักร
พันธกิจด้านการจัดการศึกษาของพระศาสนจักร
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสไว้ว่า “พันธกิจด้านการศึกษาถือเป็นพันธกิจหนึ่งที่สำคัญของพระศาสนจักร” โรงเรียนคาทอลิกจึงต้องให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ของนักเรียนในทุกมิติ ตามมนุษยวิทยาแบบคาทอลิก โดยมีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางของการจัดการเรียนการสอน ดังที่นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ กล่าวว่า “การศึกษาวิชาทั้งหมดในโรงเรียน จะเป็นคุณประโยชน์อะไรเล่า ถ้ามิได้ช่วยนักเรียนให้ประพฤติตนศักดิ์สิทธิ์ และทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม”
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงวิตกว่า ขณะนี้โลกกำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วโลก ในขณะเดียวกัน หลายแห่งในสังคมโลกยังมีความยากจน ความแตกแยก ความรุนแรงและความสับสน เห็นได้ว่า พระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะให้ทุกภาคส่วนในสังคมโลกใช้วิกฤตในขณะนี้ เป็นโอกาสปฏิรูปเพื่อให้เกิดสังคมใหม่ สังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยอาศัยการศึกษา เพราะว่าการศึกษาต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (ในที่นี้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น) ไม่ใช่คงความเป็นโลกเดิมๆ ที่มีแต่ความเห็นแก่ตัว มีแต่ความแตกแยก แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ไม่แยแสในความทุกข์ยากของผู้อื่น ขาดการเอื้ออาทร หากเราไม่แก้ไข ไม่ทำอะไร นี่คือโลกที่เด็กและเยาวชนจะสืบทอดและรับสิ่งเหล่านี้เป็นมรดก
ในพระดำรัสเรื่อง Global Compact on Education สมเด็จพระสันตะปาปาทรงให้ความสำคัญต่อ กระบวนการจัดการศึกษา กล่าวคือกระบวนการศึกษาที่จะต้องช่วยให้ทุกคนสนใจ และเอาใจใส่ ไม่ใช่แค่เพียงความรู้และทักษะในวิชาต่างๆ เท่านั้น แต่จำเป็นต้องสนใจและเอาใจใส่เรื่องจิตวิญญาณของผู้เรียนให้ได้รับการอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี และกระตุ้นให้ทุกคนใส่ใจปัญหาต่างๆ ในสังคมโลกด้วย เพราะว่าการศึกษาเป็นกิจการที่เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง เพราะเป็นการกระทำที่เรียกร้องให้เราร่วมมือกันเปลี่ยนความแห้งแล้งและการเพิกเฉย ไม่คิดไม่ทำสิ่งใด ๆ ให้กลับเป็นวิธีคิดแบบใหม่ที่ยอมรับการพึ่งพาซึ่งกันและกัน การผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างวัย (Intergenerational Solidarity) และสร้างคุณค่าแห่งธรรมอันประเสริฐ (Value of Transcendence) ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอารยธรรมใหม่ ซึ่งก็คืออารยธรรมแห่งความรัก ที่ทุกคนร่วมกันสร้างสังคมแห่งสันติและความยุติธรรม ความงามและความดี ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นดังยาสามัญแก้พิษร้ายของวัฒนธรรมปัจเจกนิยม (Individualistic Culture) ซึ่งบางครั้งก็เสื่อมถอยลงจนเป็นค่านิยมเห็นแก่ตัวเอง (Cult of the Self) และให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการวางเฉย (Primacy of Indifference) อนาคตของเราต้องไม่เป็นอนาคตของการแบ่งแยกหรือการลดทอนความคิดเห็นของผู้อื่น
เหตุนี้เอง พระองค์ทรงเชิญชวนให้มีการระดมสรรพกำลัง โดยให้ทุกภาคส่วนของโลกเข้าร่วมในคำมั่นสัญญา ซึ่งมุ่งเน้นมาที่เรื่องการศึกษา เป็นการศึกษาที่ให้มนุษยชาติเป็นศูนย์กลาง พวกเราทุกคนจึงควรตระหนักว่า จะต้องทำให้การเป็นสนาม และฐานแห่งการประกาศข่าวดีในโรงเรียนของเราเป็นรูปธรรม และขยายเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การศึกษาเป็นความหวังในการช่วยขจัดปัญหาที่เลวร้ายต่างๆ ในสังคมปัจจุบัน และเพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันในสากลโลก และเป็นสังคมที่ดีกว่าเดิม
เพื่อจะเกิดสังคมดังกล่าวได้ สมเด็จพระสันตะปาปาทรงขอให้เราเริ่มด้วยการจัดเตรียมหมู่บ้าน นั่นก็คือชุมชนของเรา สถานศึกษาของเราเสียก่อน ให้โรงเรียนของเราปราศจากการเลือกปฏิบัติ แต่ให้เปี่ยมไปด้วยภราดรภาพ (fraternity) เป็นโรงเรียนที่ทุกคนรักกันและกัน ดุจพี่น้องครอบครัวเดียวกัน ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดี เป็นน้ำหนึ่งเดียวใจเดียวกัน รับฟังกันและกัน (ยอห์น 17:21) ทั้งนี้บนพื้นฐานของความรัก และการรับใช้ซึ่งกันและกัน
พระองค์ยังตรัสอีกว่า เพื่อจะให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ จำเป็นต้องลงมือด้วยความมุ่งมั่นอย่างกล้าหาญ (Parrhesía) ที่จะสลัดทิ้งแนวทางการศึกษาที่ผิวเผิน ต้องกล้าหาญในการสร้างกระบวนการที่ทำงานด้วยจิตสำนึกที่จะเอาชนะการแตกแยก และความขัดแย้งซึ่งยิ่งทียิ่งมากขึ้น กล่าวคือเราต้องกล้าหาญ ที่จะฟื้นฟูสายสัมพันธ์ใหม่ เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติให้อยู่ร่วมกันและพูดภาษาเดียวกันในเรื่องภราดรภาพ (Fraternity) การประเมินคุณค่าของการจัดการศึกษาไม่ได้อยู่ที่ผลการสอบมาตรฐานเพียงเท่านั้น แต่วัดจากความสามารถในการสร้างการเปลี่ยนแปลงจิตใจของผู้คนในสังคมและช่วยก่อกำเนิดวัฒนธรรมใหม่ โลกใหม่ที่แตกต่างจากเดิม
- - -
บาทหลวงเอกรัตน์ หอมประทุม
เลขาธิการ
สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย
คัดลอกลิงก์เพื่อแชร์: https://bit.ly/35Gdvkr
- - - - - - - - - - -
สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย