ก้าวแรกเพื่อรู้จัก
เมื่อฉันได้มีโอกาสศึกษา “กระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการไตร่ตรอง”หรือ ในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Reflective Pedagogy Paradigm” หรือ “RPP” ซึ่งมีนักบุญอิกญาซีโอผู้ก่อตั้งคณะสงฆ์เยสุอิตเป็นผู้ให้กำเนิด ฉันมีความสงสัยข้องใจว่า กระบวนการนี้ดีจริงหรือ? จะใช้ได้ผลจริงหรือ? จะช่วยพัฒนาและเปลี่ยนชีวิตนักเรียนที่รักให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้จริงหรือ? แล้วมันจะดีกว่าวิธีการที่ฉันและเพื่อนร่วมทางใช้อยู่และคุ้นเคยมาอย่างยาวนานหรือ?แม้ว่าจะมีคำถาม ข้อข้องใจ ข้อสงสัยมากมาย แต่ฉันตัดสินใจที่จะลองศึกษาถึงกระบวนการนี้อย่างจริงจัง เริ่มต้นด้วยการเปิดใจกว้างที่จะเรียนรู้และยอมรับสิ่งใหม่ พร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเองสู่สิ่งที่ดีกว่า สู่การเป็นครูที่ดีขึ้น และที่สุดหากฉันเห็นด้วย ฉันจะตกลง “ซื้อ” และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อการอบรมบ่มเพาะนักเรียนที่รักของฉัน สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเป็นครูในเบื้องต้น ฉันได้พบว่ากระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการไตร่ตรองมีจุดแข็งที่น่าสนใจอยู่หลายประการอันได้แก่
1. ใช้กับหลักสูตร หรือสาระวิชาใดๆ ก็ได้ กระบวนการนี้สามารถปรับใช้ได้อย่างง่ายดาย แม้แต่กับหลักสูตรที่กำหนดขึ้นโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานการศึกษาใด กระบวนการนี้ไม่จำเป็นต้องมีหลักสูตรหรือสร้างเนื้อหาวิชาที่สอนให้มากขึ้นเลย เพียงแต่จะต้องปรับปรุงแผนการสอนด้วยกระบวนการเรียนรู้นี้ ซึ่งจะต่างจากวิธีการสอนที่ใช้อยู่เดิม
2. เป็นพื้นฐานของกระบวนการจัดการเรียนรู้ทุกประเภทกระบวนการนี้สามารถปรับใช้กับทั้งการเรียนการสอนในคาบเรียนปกติ และยังใช้ได้กับกิจกรรมการเรียนรู้อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรกีฬาโครงการบำเพ็ญประโยชน์การเข้าเงียบ และกิจกรรมพิเศษอื่นๆ เราสามารถใช้กระบวนการนี้ เพื่อการเตรียมบทเรียน การวางแผนที่จะมอบหมายงานให้แก่นักเรียนและการออกแบบการเรียนการสอน กระบวนการนี้มีศักยภาพอย่างยิ่งในการช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงเนื้อหาวิชาที่ได้เรียนรู้เข้าด้วยกัน และบูรณาการการเรียนรู้กับสิ่งที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ ทั้งในวิชานั้นเองและกับวิชาอื่นๆ และที่สำคัญที่สุดช่วยเชื่อมโยงวิชาความรู้กับชีวิตของนักเรียน เพื่อนักเรียนจะสามารถใช้วิชาความรู้เพื่อลงมือปฏิบัติในการเปลี่ยนแปลงชีวิตและโลกได้
3. ช่วยให้ครูเป็นครูที่ดียิ่งๆ ขึ้น กระบวนการนี้ทำให้ครูสามารถเพิ่มคุณค่าของเนื้อหาวิชาที่สอน ครูมีวิธีการเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมความคิดริเริ่มของนักเรียน ให้นักเรียนมีความรับผิดชอบและมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น และส่งเสริมให้ครูประเมินการสอนและผลสัมฤทธิ์ของการสอน เพื่อปรับปรุงวิธีการสอนของตนเองอยู่เสมอ และพัฒนาความเป็นมืออาชีพของตน
4. ให้ความสำคัญกับนักเรียนเป็นรายบุคคล กระบวนการนี้เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองถึงความหมายและความสำคัญของสิ่งที่ศึกษาอยู่ ด้วยการจูงใจให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนด้วยความกระตือรือร้นโดยมีจุดหมายเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ส่วนบุคคลมากขึ้น และสร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียนด้วยการเปิดโอกาสและชักชวนให้นักเรียนเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้เข้ากับประสบการณ์ในโลกของตนเอง
5. เน้นถึงมิติด้านสังคม กระบวนการนี้ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการร่วมแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกันในหมู่นักเรียนและครูนักเรียนและครูจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าประสบการณ์ที่ลึกซึ้งที่สุดของตนเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์และประสบการณ์กับบุคคลอื่นๆ การไตร่ตรองเป็นแรงบันดาลใจไปสู่ความชื่นชมยินดีต่อชีวิตของตนเองและของผู้อื่น และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนสังคมและโลก
ฉันยังพบว่ากระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการไตร่ตรองนี้ ช่วยฝึกทักษะในการคิดวินิจฉัยและไตร่ตรองให้แก่นักเรียน ซึ่งจำเป็นเป็นอย่างมากในสังคมปัจจุบัน สังคมสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยสิ่งกระตุ้นและสิ่งเร้าตลอดเวลา คนเราแทบจะไม่มีช่องว่างของเวลาที่จะหยุดอยู่ชั่วขณะ เพื่อจะได้คิดทบทวน วินิจฉัยและไตร่ตรองก่อนที่จะตัดสินใจและลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กระบวนการนี้จะช่วยฝึกทักษะที่จำเป็นของนักเรียนในการหยุดชั่วขณะ เพื่อคิดวินิจฉัยและไตร่ตรองก่อนที่จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อประสบการณ์ที่ได้รับ ทำให้นักเรียนไม่ตกเป็นทาสต่อสิ่งเร้าคุณพ่อจอห์นนี่ โก นำเสนอว่า วิธีการสอนที่ใช้กันอยู่ในระบบการศึกษาของโลกในปัจจุบัน ก่อให้เกิดปัญหาที่สำคัญ 2 ประการ คือ
1. ก่อให้เกิดอาการความจำ เสื่อมด้านวิชาการ (AcademicAmnesia) ซึ่งมีอาการคือ นักเรียนลืมเนื้อหาที่เรียนภายใน 2-3 นาทีหลังจากสอบเสร็จ อาการนี้มีต้นเหตุมาจากการขาดความเข้าใจอย่างแท้จริงในเนื้อหาที่ได้เรียน
2. ก่อให้เกิดอาการตีบตันทางสติปัญญา (Intellectual Constipation)กล่าวคือ นักเรียนไม่รู้ว่าจะนำสิ่งที่เรียนในห้องเรียนไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไรอาการนี้มีสาเหตุมาจากการขาดแนวทางที่จะปรับใช้สิ่งที่เรียนรู้ไปลงมือปฏิบัติในชีวิตจริง
กระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการไตร่ตรองทำให้นักเรียนได้รู้ว่า “ฉันเรียนรู้อะไร” และยังให้รู้อีกว่า “ฉันเรียนรู้อย่างไร” และที่สำคัญ “ทำไมฉันต้องเรียนรู้เรื่องนี้” กระบวนการนี้จึงช่วยบรรเทาอาการทั้งสองนี้ได้โดยเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนจากวิธีการที่เราใช้อยู่เดิม ในหลายด้าน คือ
1. จากการสอนโดยครูเป็นผู้ถ่ายทอดฝ่ายเดียว (One-Way Learning:Broadcast or Teacher-Centered) ให้เป็นการสอนที่เป็นสองทางโดยที่นักเรียนมีส่วนร่วมและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Two-Ways Learning: Interactive orStudent Centered)
2. จากการรับฟังความรู้โดยมีนักเรียนเป็นผู้ฟังและครูเป็นผู้ถ่ายทอดให้เป็นการแสวงหาและต่อยอดความรู้โดยมีนักเรียนเป็นผู้เรียนรู้และลงมือทำ
3. จากการท่องจำและทำ ซ้ำ เนื้อหา ให้เป็นการเข้าใจเนื้อหาและสามารถปรับใช้เนื้อหานั้นในชีวิตจริง
4. จากการเรียนรู้ที่เริ่มต้นและจบสิ้นที่โรงเรียน (School-LongLearning) ให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning)
ชักเริ่มน่าสนใจแล้วใช่ไหมล่ะ! ฉันได้ตัดสินใจที่จะจดบันทึกผลการเรียนรู้และการไตร่ตรองของฉันที่ได้จากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งๆ ที่ผ่านมาในชีวิต ฉันไม่ชอบการขีดๆ เขียนๆ มากนัก ฉันอยากเชิญชวนคุณมาเดินทางอันท้าทายนี้สู่การเรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการไตร่ตรองนี้ร่วมกันเมื่อเสร็จสิ้นการเดินทางแล้ว จึงค่อยตัดสินใจกันว่าจะ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ”
เรามาเริ่มการเดินทางไปด้วยกันและดูแลกันและกันตลอดการเดินทางนะ
“สังคมสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยสิ่งกระตุ้นและสิ่งเร้าตลอดเวลา
คนเราแทบจะไม่มีช่องว่างของเวลาที่จะหยุดอยู่ชั่วขณะ
เพื่อจะได้คิดทบทวน วินิจฉัย และไตร่ตรองก่อนที่จะตัดสินใจ
และลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กระบวนการนี้จะช่วยฝึกทักษะที่จำเป็น
ของนักเรียนในการหยุดชั่วขณะ เพื่อคิดวินิจฉัยและไตร่ตรอง
ก่อนที่จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อประสบการณ์ที่ได้รับ
ทำให้นักเรียนไม่ตกเป็นทาสต่อสิ่งเร้า”
Link เพื่อแชร์ : https://bit.ly/3lwDU90
ที่มา : หนังสือไตร่ตรอง (หน้าที่1-5)
สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย(CECT)