บทที่ 8 การดำเนินการเพื่อมาตรฐานคุณภาพตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติด้วยอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก
ศาสนจักรคาทอลิกเห็นเป็นหน้าที่ในการจัดให้มีโรงเรียนคาทอลิกในทุกสังคมที่มีศาสนิกชนคาทอลิกในสังคมนั้น เพราะเป็นหน้าที่ของพระศาสนจักรที่จะช่วยพ่อแม่ที่เป็นสมาชิกของศาสนจักรในการพัฒนาลูกสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อันเป็นเป้าหมายของชีวิตมนุษย์ที่พระเจ้าประทานให้ “...ปราศจากโรงเรียนคาทอลิกจึงเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของอารยธรรมและของเป้าหมายทางธรรมชาติและเป้าหมายเหนือธรรมชาติของมนุษย์” (โรงเรียนคาทอลิก ข้อ 15)โรงเรียนและมหาวิทยาลัยคาทอลิกได้รับใช้ประชาคมโลกอย่างมีคุณภาพสืบเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน และเป็นที่นิยมของสังคม แม้ในบรรดาผู้ที่มิได้เป็นคาทอลิกก็มีหลายครอบครัวที่นิยมให้บุตรเรียนในโรงเรียนคาทอลิก
ในการเป็นโรงเรียนคาทอลิกที่มีอัตลักษณ์ชัดเจนนั้น ศาสนจักรคาทอลิกถือเป็นหน้าที่ที่จะร่วมมือกับรัฐในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ “...สิ่งที่ไม่ทำให้เกิดคุณลักษณะของความเป็นโรงเรียน ย่อมไม่ใช่คุณสมบัติของโรงเรียนคาทอลิกเช่นกัน” (โรงเรียนคาทอลิก ข้อ 25)
ดังนั้นเมื่อประเทศไทยกำหนดมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ และกระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา โดยอาศัยกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2553 และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ได้กำหนดตัวบ่งชี้ในการประเมินคุณภาพรอบสาม (พ.ศ. 2554-2558) แล้ว โรงเรียนคาทอลิกพึงพิจารณาและดำเนินการให้โรงเรียนมีมาตรฐานคุณภาพอย่างมีความหมายลึกซึ่งในอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิกด้วย เพราะภารกิจการจัดการศึกษาคาทอลิกและภารกิจการจัดการศึกษาตามนโยบายประเทศไทยนี้มิได้แปลกแยกจากกันหากแต่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ประเทศชาติต้องการการศึกษาที่ส่งเสริมคุณค่าทางจิตใจและจิตวิญญาณเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุผลดังกล่าว สภาการศึกษาคาทอลิกขอเสนอการวิเคราะห์เจาะลึกถึงความหมายของมาตรฐานคุณภาพ และตัวชี้วัดหลักในการดำเนินการ ที่นำสู่การพัฒนามนุษย์สู่ความสมบูรณ์ในอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก เพื่อเป็นเครื่องมือที่ผู้บริหารสามารถใช้ได้กับบุคลากร ซึ่งเมื่อมีความ
เข้าใจที่ตรงกันแล้ว การดำเนินการเพื่อมาตรฐานคุณภาพยังเป็นภารกิจที่กระทำเช่นเดียวกับโรงเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกสังกัด แต่กระทำด้วยอัตลักษณ์ความเป็นโรงเรียนคาทอลิกเป็นพื้นฐานที่สร้างแรงบันดาลใจและปณิธานในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งตอบสนองข้อเรียกร้องของพระศาสนจักรที่ขอให้เป้าหมายทางการศึกษา และเป้าหมายทางการอบรมสอดคล้องกับอัตลักษณ์โรงเรียนคาทอลิก (มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ข้อ 100)
มาตรฐานการประเมินเพื่อใช้ในการประเมินในการประกันคุณภาพภายใน ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาโรงเรียนในการจัดการศึกษาแบบคาทอลิกอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ดังนั้น มาตรฐานในการประเมินจึงควรเน้นการประเมินกระบวนการในการจัดการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์และผลกระทบ
การวัดผลลัพธ์หรือผลกระทบไม่สามารถชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่ควรพัฒนาหรือปรับปรุงได้อย่างชัดเจน การหล่อหลอมนักเรียนให้มีคุณลักษณะตามอัตลักษณ์ของโรงเรียนที่กำหนดขึ้นตามคุณค่าพระวรสารเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและยาวนาน นอกจากนั้น การมีคุณลักษณะที่กำหนดสะท้อนให้เห็นได้จากพฤติกรรมของนักเรียน ซึ่งพัฒนาตามวัยของนักเรียน ไม่มีเครื่องมือการวัดที่เชื่อถือได้ในงบประมาณที่เหมาะสม ที่จะสามารถประเมินนักเรียนแต่ละคนว่ามีคุณลักษณะที่กำหนดหรือไม่เพียงใด
ทั้งนี้ ด้วยความตระหนักในหน้าที่ของโรงเรียนที่เป็นเสมือนผู้ปลูกและผู้รดน้ำ แต่เป็นพระเจ้าที่ทรงเป็นผู้บันดาลให้นักเรียนเติบโตขึ้น ตามกระแสเรียกของเขาแต่ละคน (เทียบ 1 โครินธ์ 3:6)การประเมินเพื่อการประกันคุณภาพภายใน จึงควรเป็นการประเมินความพยายามของโรงเรียนโดยผ่านการทำงานของผู้บริหาร ครู และบุคลากร ในการทำหน้าที่ปลูกและรดน้ำ เพื่อพัฒนาแลปรับปรุงความพยายามนั้นต่อไปอย่างต่อเนื่องและยั้งยืน
ตัวบ่งชี้หลักในการดำเนินการได้ถูกนำเสนอไว้ในเอกสารนี้เพื่อใช้เป็นแนวทางมี 12 ตัว คือ
1. แผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการที่ทำอย่างมีส่วนร่วมและแสดงอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิกที่ชัดเจน และมีระบบการประเมินในการประกันคุณภาพภายใน
2. แผนการสอน กิจกรรมการเรียนรู้ และการนิเทศที่เข้าถึงคุณค่าอย่างเป็นองค์รวม มีการบูรณาการคุณค่าพระวรสารโดยเน้นคุณลักษณะตามเป้าหมาย มีการไตร่ตรองและการมีส่วนร่วมของผู้เรียน
3. กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นผู้ริเริ่ม รับผิดชอบ และทำงานร่วมกันอย่างอิสระและเป็นมิตร
4. ระบบบันทึก วิเคราะห์ และส่งต่อข้อมูลเพื่อพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล
5. การประเมินและวัดผล และการวิจัยในชั้นเรียนที่เน้นการพัฒนาของผู้เรียนมากกว่าคะแนน
6. แผนงานด้านจิตตาภิบาล ซึ่งครอบคลุมการอบรมครูด้านจริยธรรมและศีลธรรม และการสอนคำสอน คริสตศาสตร์ และจริยศึกษาสำหรับผู้เรียน
7. การฝึกอบรม ศึกษาดูงานของครูในการจัดการเรียนการสอนตามหลักการศึกษาคาทอลิก
8. บรรยากาศโรงเรียนที่อบอุ่นเสมือนบ้านและเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งทางสติปัญญาและจิตวิญญาณ
9. โครงสร้างการบริหาร และการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม
10. การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับผู้ปกครองและชุมชนในการจัดการศึกษาแบบคาทอลิก
11. การระดมทุนเพื่อสนับสนุนโรงเรียนและการให้ทุนการศึกษา
12. ผลคะแนนเฉลี่ยรายวิชาที่สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับชาติ
Link เพื่อแชร์ : https://bit.ly/3kRGENJ
ที่มา : หนังสือก้าวไปข้างหน้าด้วยอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก (หน้า39-41)
สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย(CECT)