6. บูรณาการองค์ความรู้และคุณค่าขององค์ความรู้เข้ากับคุณค่า พระวรสารจนเป็นหนึ่งเดียว
การศึกษาคาทอลิกมีแรงบันดาลใจจากคุณค่าพระวรสาร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความรักความจริง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความยุติธรรม (มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ข้อ 47) ดังนั้น การศึกษาต้องไม่เป็นเพียงแต่การทำให้นักเรียนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และคุณค่าขององค์ความรู้เท่านั้น แต่ยังต้องทำให้นักเรียนสามารถบูรณาการองค์ความรู้และคุณค่าเข้ากับคุณค่าพระวรสาร จนสามารถค้นพบความหมายและคุณค่าของชีวิตตนได้ (โรงเรียนคาทอลิกข้อ 49)
การบูรณาการนี้ยังช่วยปลูกฝังด้านจริยธรรมเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดความรู้อันเป็นการกระตุ้นพลวัตรของจิตวิญญาณและช่วยให้นักเรียนเกิดอิสรภาพเชิงศีลธรรม และสามารถตัดสินใจเลือกและทำอย่างอิสระและสอดคล้องกับมโนธรรมที่ถูกหล่อหลอมขึ้นตามคุณค่าพระวรสาร
ทั้งนี้ คุณค่าพระวรสาร 21 ประการ ที่ได้รวบรวมและนำเสนอในการสัมมนาอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก ได้แก่ ความเชื่อศรัทธา ความจริง การไตร่ตรอง/ภาวนา มโนธรรม/วิจารณญาณอิสรภาพ ความยินดี ความเคารพ/ศักดิ์ศรี ความสุภาพถ่อมตน ความซื่อตรง ความเรียบง่าย ความรักเมตตา ความกตัญญูรู้คุณ การงาน การรับใช้ ความยุติธรรม สันติ/การคืนดี อภัย ความเป็นหนึ่ง การพิศเพ่งสิ่งสร้าง และความหวัง
7. มีหลักสูตรที่เสนอภาพองค์รวมของความเป็นมนุษย์เพื่อให้เข้าถึงคุณค่าที่มีบูรณาการการศึกษาคาทอลิกตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า‘ ‘ความรู้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อ เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา และมุมมองชีวิต’’ หลักสูตรและแผนการเรียนรู้ของการศึกษาคาทอลิกต้องให้ภาพที่เป็นองค์รวมอย่างชัดเจนและเพียงพอ โดยมีจุดหมายปลายทางที่นักเรียนจะได้เรียนรู้และเข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของสาระวิชาการที่บูรณาการกับคุณค่า พระวรสารสาระวิชาและคุณค่าที่ได้มีการบูรณาการกับคุณค่าพระวรสาร (มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ข้อ 57-61) มีแนวทางเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
วิชา คุณค่าที่มีบูรณาการ
1. สังคมศึกษา – เข้าใจและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และการมีชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างยุติธรรมและสันติ
2. ประวัติศาสตร์ - แสวงหาความจริงจากประวัติของสังคมมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม จนเกิดเป็นแนวทางในการสร้างมโนธรรมของตน
3. วิทยาศาสตร์ – ค้นพบและเข้าใจกฎของธรรมชาติที่พระเจ้าสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของมนุษย์และสังคมที่ยั่งยืน
4. ศิลปกรรม/ วรรณกรรม - พัฒนาสำนึกทางสุนทรีภาพ ด้วยการพิศเพ่งถึงความงาม และระเบียบอันเป็นนิรันดร์ของธรรมชาติ
5. คณิตศาสตร์ - เรียนรู้ตรรกะและระเบียบวิธีในการแสวงหาความจริงบนพื้นฐานของการคิดด้วยสติปัญญาอย่างมีเหตุผลและมีระเบียบแบบแผน
6. ปรัชญา - เรียนรู้กรอบความคิดทีเป็นระเบียบ เพื่อเลือกตอบคำถามที่มีความหมายและและแสดงถึงความเกี่ยวพันกันของมนุษย์ โลก จักรวาลและพระเจ้ายิ่งกว่านั้น การศึกษาคาทอลิกเน้นการทำงานแบบสหวิทยาการที่นำวิชาต่างๆ มาประสานซึ่งกันและกัน ซึ่งจะให้ผลในเชิงบวก เนื่องจากมีปัญหาและหัวข้อบางประการซึ่งการพิจารณาในวงจำกัดเพียงวิชาหนึ่ง วิชาใดไม่สามารถกระทำได้โดยง่าย การทำงานในลักษณะนี้ควรจะพิจารณารวมเอาประเด็นทางหลักศาสนาเข้าไว้ด้วย เพราะประเด็นทางหลักศาสนามักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อมีการพิจารณาหัวข้อเกี่ยวกับมนุษย์ ครอบครัว สังคม หรือประวัติศาสตร์ (มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ข้อ 64)
8. มีกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการไตร่ตรอง
การไตร่ตรอง (Reflection) เป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งของกระบวนการการศึกษาคาทอลิกเพราะจะทำให้เกิดความสำนึกเชิงวิพากษ์ในการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดการไตร่ตรองจึงควรมีการตั้งคำถามอย่างสม่ำเสมอ ไม่เพียงแต่คำถาม ‘อะไร’ และ ‘อย่างไร’ แต่รวมถึง ‘ทำไม’ ด้วย เพื่อชี้ให้เห็นและเจาะลึกถึงผลลัพธ์ เกิดการตรวจสอบ และตีความข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ (มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ข้อ 108) อันจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่เข้าถึงคุณค่าและความหมายถึงระดับจิตวิญญาณการไตร่ตรองด้วยคำถามที่ดีช่วยให้นักเรียนมีสำนึกเชิงวิพากษ์ในการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง และรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ แทนที่จะยอมรับข้อเท็จจริงใดๆ โดยไม่ลืมหูลืมตารวมทั้งนำสู่การสัมผัสสัจธรรมในระดับจิตใจและจิตวิญญาณ
9. มีครูเป็นแบบอย่าง ผู้เอื้อ ให้เกิดการเรียนรู้ และเพื่อนร่วมทางชีวิตการศึกษาคาทอลิกเรียกร้องให้ครูใช้ชีวิตเป็นประจักษ์พยานที่นักเรียนสัมผัสได้(โรงเรียนคาทอลิก ข้อ 8) กล่าวคือ เป็นต้นแบบในการประพฤติปฎิบัติที่ดี ปฏิบัติในสิ่งที่สอน เป็นตัวอย่างในการใฝ่เรียนรู้อยู่เสมอ รวมทั้งเป็นผู้ที่รัก และสื่อสารความจริงที่จะให้นักเรียนเห็นคุณค่าของความจริงในตัวของมันเอง
ในขณะเดียวกัน ครูมีหน้าที่ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีและเหมาะสมให้แก่นักเรียน ครูพึงวางแผนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความสามารถ และความต้องการของนักเรียนแต่ละคน ครูต้องให้กำลังใจ กระตุ้น ให้คำแนะนำช่วยเหลือ ตลอดจนตักเตือนอย่างเป็นมิตร เพื่อให้เกิดผลทั้งทางวิชาการและทางศีลธรรม และที่สุด ครูภาวนาให้แก่นักเรียนแต่ละคน (มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ข้อ 100)
ครูพึงใส่ใจในการพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาความรู้ จิตวิทยาในการจัดการเรียนการสอนและให้คำแนะนำแก่นักเรียน ตลอดจนพัฒนาจิตใจและจิตวิญญาณของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เปิดรับแรงบันดาลใจจากพระจิตเจ้า และพระพรของพระองค์ คณะครูร่วมกันเป็นประจักษ์พยานถึงการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างร่วมอุดมการณ์ ภาวนาด้วยกัน สามัคคีรับผิดชอบ เสียสละและอุทิศตน
10. มีความเป็ นชุมชน (Community) และเสริมสร้างจิตวิถีแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน(Spirituality of Communion)
ความเป็นชุมชนเป็นหัวใจสถานศึกษาคาทอลิกและการให้การศึกษาอบรมด้วยวิถีจิตแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน และเพื่อวิถีจิตแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นเป้าหมายทีสำคัญยิ่งของการศึกษาคาทอลิกอันนำสู่การสร้างอาณาจักรของพระเจ้า(เทียบ มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ข้อ 11)
บรรยากาศทางการศึกษาของโรงเรียนคาทอลิกอยู่ที่คุณภาพของความสัมพันธ์ในมิติต่างๆอันได้แก่ความสัมพันธ์กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันของกายและจิตในความเป็นมนุษย์แท้ความสัมพันธ์กับพระผู้สร้าง กับเพื่อนมนุษย์ และกับ สิ่งสร้างทั้งปวง โรงเรียนคาทอลิกส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ (Community Building) นักเรียนเรียนรู้ที่จะเป็นผู้มีความคิดอย่างมีวิจารณญาณบนพื้นฐานของความเชื่อ และด้วยจิตตารมณ์ของความรักและอิสรภาพ เติบโตร่วมกับผู้อื่นในชุมชน เอื้ออาทรต่อผู้อื่น จากแบบอย่างของความเป็นชุมชนของครูและบุคลากรในโรงเรียน และจากการสร้างบรรยากาศเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล มิติความเป็นชุมชนนี้ มิได้เป็นเพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นลักษณะเฉพาะและเป็นคุณสมบัติที่ซึมซับอยู่และบ่งบอกได้ในทุกขณะของการดำเนินกิจกรรมทางการศึกษา
บทสรุป
การศึกษาคาทอลิกเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยชุมชนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากจิตตารมณ์ของพระเยซูคริสต์ พระวรสารของพระเยซูคริสต์ที่ให้เรารักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดสังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเอื้ออาทร ซึ่งแสดงออกด้วยสัมพันธภาพอันดีในหมู่โรงเรียนคาทอลิกด้วยกัน และกับโรงเรียนอื่นๆการศึกษาคาทอลิกต้องการกระตุ้น สร้างแรงจูงใจให้นักเรียนปรารถนาที่จะเรียนรู้ เพื่อที่จะเข้าใจและรักในความจริงเกี่ยวกับมนุษย์ โลก และจักรวาล อันนำสู่การอุทิศตนรับใช้ผู้อื่น และทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น การสอนต่างๆ ไม่เป็นเพียงแต่ทำให้เกิดการรับความรู้อย่างผิวเผิน แต่ทำให้เข้าใจในคุณค่าและค้นพบความจริงอีกด้วย การศึกษาคาทอลิกจึงให้ความสำคัญกับกรอบแนวคิดเชิงอุปนัย เพราะจะทำให้นักเรียนเข้าใจและเข้าถึงองค์ความรู้และคุณค่าอย่างเป็นองค์รวม การให้ความสำคัญกับความเป็นองค์รวมมีความสำคัญมากเพราะจะทำให้นักเรียนสามารถมองและตีความประสบการณ์ของตนจากทุกแง่ ทุกมุมการศึกษาคาทอลิกต้องการปลุกสติสัมปชัญญะของนักเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนวิเคราะห์ไตร่ตรองข้อเท็จจริง และความรู้ต่างๆ อย่างมีวิจารณญาณ จนสามารถแยกแยะสิ่งที่ถูกต้องและสิ่งที่เป็นจริงออกจากสิ่งตรงกันข้าม ด้วยมโนธรรมที่ได้รับการปลูกฝังและหล่อหลอมด้วยคุณค่าพระวรสารที่ถูกบูรณาการในหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน กระบวนการศึกษาคาทอลิกจึงเน้นให้นักเรียนไตร่ตรองประสบการณ์ของตนด้วยคุณค่าพระวรสาร จนมีความสามารถตัดสินใจเลือกและปฎิบัติด้วยมโนธรรมที่ถูกต้องและเที่ยงตรง และมีจิตวิญญาณที่แสวงหาสัจธรรมการศึกษาคาทอลิกส่งเสริมให้นักเรียนยอมรับที่จะเสียสละและเพียรทนในการทำงาน ตามความสามารถ และตามกระแสเรียกของตน การศึกษาคาทอลิกมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนตลอดจนเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่นได้ เพราะความเป็นชุมชนที่มีวิถีจิตที่ลึกซึ่งเป็นหัวใจของการศึกษาคาทอลิกการศึกษาคาทอลิกจะเป็นจริงได้โดยคณะครูผู้ร่วมกันใช้ชีวิตเป็นประจักษ์พยาน เป็นชุมชนที่มีความลึกซึ่งในวิถีจิต เป็นแบบอย่างที่ดีและสร้างสรรค์ ครูแต่ละคนนอกจากเป็นผู้เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ ครูยังเป็นเพื่อนร่วมทางชีวิตของนักเรียน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่มีระหว่างบุคคล และความเป็นชุมชนที่ก้าวเดินในหนทางสู่ความจริง ความดี และความงามด้วยกันด้วยการจัดการศึกษาแบบคาทอลิกนี้ โรงเรียนคาทอลิกจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและครบถ้วนบริบูรณ์แก่เด็กและเยาวชนเพื่อพัฒนาเขาเหล่านั้นโดยไม่จำกัดความเชื่อทางศาสนาในโรงเรียนคาทอลิก ข่าวดีของพระคริสต์ถูกแสดงให้เห็นประจักษ์ด้วย
- การเป็นชุมชนแห่งความเชื่อ รับใช้ ภาวนา และโมทนาคุณพระเป็นเจ้า
- การพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคลให้บรรลุถึงศักยภาพของเขา ในบรรยากาศแห่งความปีติยินดี อิสรภาพ ความเคารพซึ่งกันและกัน ความท้าทาย ความร่วมมือร่วมใจ และความรื่นเริง
- การสร้างเสริมชีวิตของนักเรียนให้ครบครัน ทั้งด้านสติปัญญา ร่างกาย จิตวิญญาณศีลธรรม สังคม และอารมณ์
- การส่งเสริมจิตตารมณ์แห่งความรัก ความยุติธรรมในสังคม ความตระหนักรู้ในความเป็นไปของโลก และเข้าอกเข้าใจผู้อื่น อันจะนำไปสู่การแสวงหาและร่วมมือกับผู้อื่นอย่างเป็นรูปธรรม
- วัฒนธรรมแห่งความอดกลั่น ซึ่งยอมรับ เคารพ ส่งเสริม รับ ฟัง แสวงหาความเข้าใจร่วมกัน ไว้วางใจ พร้อมที่จะคืนดี สมานฉันท์ และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ในท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางอัตลักษณ์ของแต่ละคน และ
- การเตรียมนักเรียนให้สามารถที่จะดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมาย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อส่วนรวม
Link เพื่อแชร์ : https://bit.ly/3ktFpV0
ที่มา : หนังสือก้าวไปข้างหน้าด้วยอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก (หน้า33-38)
สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย(CECT)