สืบเนื่องมาจาก การเปิดสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ศาสนจักรคาทอลิกทั่วโลกได้ตื่นตัวขึ้นตอบรับการปฏิรูปศาสนาครั้งนี้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ได้ประกาศกฤษฎีกาว่าด้วย “การศึกษาคาทอลิก GRAVISSI MUM EDUCATIONIS” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) เป็นต้นไป นักการศึกษาคาทอลิกแต่ละประเทศ ทั่วโลก ได้ศึกษาด้วยเรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในประเทศของตน ประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวันอินโดนีเชียและประเทศไทยได้จับกลุ่มรวมตัวกันเพื่อศึกษาปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาคาทอลิกในประเทศของตนภายใต้การนำของคุณพ่อ Helweg S.J. (ญี่ปุ่น) และนักการศึกษาประเทศฟิลิปปินส์
ในปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) บรรดาผู้แทนจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย ประชุม ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อศึกษากฤษฎีกาที่ว่าด้วย “การศึกษาคาทอลิก”
ในปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ประเทศไทยได้จัดให้มีการประชุมการปฏิรูปการศึกษาคาทอลิกสำหรับประเทศไทย โดยศึกษากฤษฎีกาฉบับปี ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) ร่วมกันที่ประชุมประกอบด้วย บรรดาผู้บริหารโรงเรียนคาทอลิก สังฆราช เจ้าคณะ พระสงฆ์ และนักบวช ณ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
ในปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) การสัมมนาการปฏิรูปการศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย ตามกฤษฎีกาวาติกันครั้งที่ 2 ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เป็นประธานเปิดการประชุมการปฏิรูปการศึกษาคาทอลิกครั้งแรกในปีค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ตามกฤษฎีกาวาติกันที่ 2 ที่ว่าด้วยการศึกษาคาทอลิก
ในปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) วันเปิดการสัมมนาการศึกษาคาทอลิก ฯพณฯ สมณฑูต แห่งรัฐวาติกัน มาร่วมในพิธีเปิดการประชุมสภาการศึกษาคาทอลิก ท่านผู้อำนวยการกองโรงเรียนราษฎร์ได้กรุณามาบรรยายเรื่อง “การยกมาตรฐานครูและวิธีปรับปรุงการสอน” แมร์ทีโอดอร์ บรรยายเรื่อง “โรงเรียนคาทอลิกกับการพัฒนาของชาติ” กาลต่อมาเมื่อสภาการศึกษาคาทอลิกมีความเข้มแข็งมากขึ้น ได้สถาปนาตนเองให้เป็นที่ยอมรับของรัฐบาล โดยจัดกิจกรรมที่มีชื่อเสียง เช่น
ในปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเปิด International Year of the Child ณ สนามศุภชลาศัย และ ในปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเปิด The Musical Performance in honor of the 5th Cycle Anniversary Celebration of His Majesty King Bhumibol Adulayadej ณ สนามศุภชลาศัย
1.2 การจัดตั้ง
- สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรสำหรับสถาบันการศึกษาคาทอลิกทุกระดับในประเทศไทย ภายใต้โครงสร้างของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย สังกัดคณะกรรมาธิการฝ่ายการธรรมทูตและการอบรมศึกษาคาทอลิก จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) ในรูปของ “คณะกรรมการโรงเรียนคาทอลิกแห่งประเทศไทย” และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย” ในการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกของโรงเรียนคาทอลิก ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512)
- สภาฯ เป็นสมาชิกของสภาการศึกษาคาทอลิกสากล (OIEC) และมีความสัมพันธ์กับสหพันธ์มหาวิทยาลัยคาทอลิกสากล (IFCU) ทั้งสององค์กร อยู่ในโครงสร้างของพระศาสนจักรสากล และมีสถานะผู้สังเกตการณ์ในองค์การสหประชาชาติ
- สภาฯ เป็นสมาชิกสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ
- สภาฯ จดทะเบียนเป็นสมาคมสภาการศึกษาคาทอลิก (ประเทศไทย) กับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2532
- ที่ทำการของสภาการศึกษาคาทอลิกฯ เมื่อก่อตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ถนนรามคำแหง 24 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240
- ที่ทำการปัจจุบัน 122/9 อาคารแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ซอยนนทรี 14 (นาคสุวรรณ) ถนนนนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
1.3 วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาคาทอลิกดำเนินกิจการตามเจตนารมณ์ของพระศาสนจักรสากล
2. เพื่อประสานงานระหว่างสภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทยกับสถาบันการศึกษาคาทอลิกทุกระดับ
3. เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางปฎิบัติสำหรับสถาบันการศึกษาคาทอลิกให้สอดคล้องกับ จิตตารมณ์ การศึกษาคาทอลิก
4. เพื่อเป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ทางการศึกษาของคาทอลิกในประเทศไทยต่อกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย คณะกรรมการศึกษาแห่งชาติรัฐบาลและองค์กรระหว่างชาติ
5. เพื่อประสานประโยชน์และส่งเสริมความสามัคคีระหว่างสถาบันการศึกษาคาทอลิก
6. เพื่อส่งเสริมสถาบันการศึกษาคาทอลิกให้มีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาของชาติ โดยร่วมมือกับสถาบันและองค์การอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
7. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสมาคมครูโรงเรียนคาทอลิก สมาคมสโมสรลูกเสือรัตนโกสินทร์ และองค์กรต่าง ๆ ที่สภาการศึกษาคาทอลิกสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้น
1.4 ภารกิจ สมาชิกของสภาการศึกษาคาทอลิกฯ มีส่วนร่วมในภารกิจดังต่อไปนี้
1) เสริมสร้างกระบวนการเพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามปรัชญาและเจตนารมณ์การศึกษาคาทอลิกในสถาบันการศึกษา ในด้านการศึกษาและอบรม ในกระบวนการเรียนรู้ และองค์กรเองในฐานะตัวแทนของพระศาสนจักรในการฝึกอบรมเยาวชน หรือผู้ร่วมมือในการพัฒนาสังคม และในฐานะเป็นส่วนหนึ่งแห่งชีวิตของพระศาสนจักรท้องถิ่น และดำเนินการต่างๆ ในการประชุมสัมมนา การวิจัยและพัฒนา การศึกษาแบ่งปันความรู้ ทักษะและประสบการณ์เชิงเอกสาร การศึกษาต่างๆ ในการประสานงานร่วมมือกัน เกื้อกูลกันและช่วยเหลือกันดุจพี่น้อง
2) ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของพระศาสนจักร โดยเฉพาะในด้านการอภิบาลเยาวชนการศึกษาและฝึกอบรม การพัฒนาสังคมที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนและชุมชน ในเป้าหมายแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตและชีวิต
ฝ่ายจิต
3) ประกาศและเป็นพยานถึงแนวชีวิตตามพระวรสาร โดยให้บุคลากรทุกคน และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเน้นคุณค่าของชีวิตและค่านิยมแห่งพระวรสาร ในงานอภิบาลเยาวชน เป็นต้น ในสถานศึกษาและเนื้องานที่เกี่ยวข้อง
4) ร่วมมือกับสภาการศึกษาคาทอลิกโลก หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในสังคมท้องถิ่นและระดับชาติเพื่อการพัฒนาคนด้วยความเข้าใจที่ดีกว่าและเหมาะสมกับยุคสมัย
1.5 สมาชิกภาพ
สมาชิกภาพของสภาการศึกษาคาทอลิกฯ (ข้อมูลปี 2563) ประกอบด้วย
1) สถาบันการศึกษาคาทอลิกทั่วราชอาณาจักรไทย 3 ประเภท รวม 367 แห่ง ได้แก่
1. สถาบันการศึกษาของสังฆมณฑล 11 สังฆมณฑล จำนวน 148 แห่ง
2. สถาบันการศึกษาของคณะนักบวช จำนวน 107 แห่ง
3. สถาบันการศึกษาของฆราวาส จำนวน 112 แห่ง
2) สังฆมณฑลและคณะนักบวชที่ดำเนินงานหรือเกี่ยวข้องกับการศึกษา
3) องค์กรที่จัดตั้งขึ้นด้วยความเห็นชอบของสภาการศึกษาคาทอลิกฯ เช่น สมาคมครูโรงเรียนคาทอลิกแห่งประเทศไทย สมาคมสโมสรลูกเสือรัตนโกสินทร์ เป็นต้น