หลักการเบื้องต้นของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามอัตลักษณ์ศึกษาคาทอลิก
การศึกษาที่เป็นคาทอลิกมีศูนย์กลางที่พระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็น “หนทาง ความจริง และชีวิต” (ยอห์น 14:6) การศึกษาคาทอลิกจึงมีอัตลักษณ์ที่เด่นชัด บทความนี้ เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอหลักการเบื้องต้นของการจัดการศึกษาตามอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิกให้ตรงตามเจตนารมณ์เป้าหมายของการศึกษาคือ การนำนักเรียนให้พัฒนาบุคลิกภาพ เพิ่มพูนวุฒิภาวะสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความหมาย มีจิตวิญญาณ จิตใจ สติปัญญา และร่างกายที่มีดุลยภาพ ผสมกลมกลืนกันในความเป็นมนุษย์แท้
ลักษณะพิเศษของการจัดการศึกษาที่มีพระเยซูคริสต์เป็นรากฐานนี้ ปรากฏเด่นชัดด้วยการบูรณาการวัฒนธรรมกับความเชื่อ และความเชื่อกับชีวิต การศึกษาคาทอลิก ครอบคลุมความใส่ใจใน 4 ด้าน คือ
1. บรรยากาศทางการศึกษา
2. การพัฒนาความเป็นมนุษย์ของนักเรียนเป็นรายบุคคล
3. ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับข่าวดีของพระคริสต์
4. การให้ความกระจ่างความรู้ทั้งปวงด้วยแสงแห่งความเชื่อ
จากการวิเคราะห์และสังเคราะห์เนื้อหาของลักษณะพิเศษของการศึกษาคาทอลิก 4 ด้าน ซึ่งชี้นำโดยสมณสาสน์ต่างๆ จากสันตะสำนักอันเกี่ยวด้วยการศึกษาคาทอลิก และการฟังเสียงนักการศึกษา ผู้บริหารและครูของโรงเรียนคาทอลิกในประเทศไทยจำนวนกว่า 800 ท่านจากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “อัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก” ที่จัดขึ้นในช่วงเวลา ตั้งแต่ตุลาคม ค.ศ. 2010 ถึงมิถุนายน ค.ศ. 2012 ซึ่งได้เพิ่มพูนความตระหนักถึงบริบทและสิ่งท้าทายการจัดการศึกษาในสังคมไทยปัจจุบัน อันนำไปสู่การนำเสนอหลักเบื้องต้นที่นำไปปฏิบัติได้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของการศึกษาคาทอลิกไว้ 10 ประการ ดังต่อไปนี้
1. มีพระคริสต์เป็นรากฐานของกิจกรรมทั้งปวง
พระเยซูคริสต์เป็นรากฐานของกิจกรรมการเรียนรู้ของการศึกษาคาทอลิกทั้งปวง การไขแสดงของพระองค์มอบความหมายใหม่แก่ชีวิต และช่วยให้มนุษย์กำกับความคิด การกระทำ และปณิธานตามหลักการพระวรสาร ทำให้วิถีแห่ง “บุญลาภ” เป็นบรรทัดฐานของชีวิต เช่นนี้แล้วโรงเรียนคาทอลิกจึงมีหลักการพระวรสารเป็นบรรทัดฐานทางการศึกษา (โรงเรียนคาทอลิก ข้อ 34)
การศึกษาคาทอลิกจึงนำคุณค่าพระวรสารมาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนทุกสาระการเรียนรู้และทุกรายวิชา รวมทังมาเป็นแนวทางในการจัดบรรยากาศของโรงเรียนและการจัดกิจกรรมต่างๆ นอกจากคำสอนแล้ว การศึกษาคาทอลิกยังนำวิถีชีวิตของพระเยซูคริสต์ที่แสวงหาน้ำพระทัยของพระบิดาด้วยการมีเวลาเพื่อภาวนาฟังเสียงพระเจ้ามาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต และการปฏิบัติภารกิจการมอบความรักของพระเจ้าแก่ผู้ที่ขัดสน เจ็บป่วย และรอโอกาส มาเป็นการปฏิบัติของโรงเรียนด้วย
2. มีจุดหมายทางการศึกษาที่จะหล่อหลอมให้นักเรียนมุ่งสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
การศึกษาคาทอลิก มีจุดหมายที่จะหล่อหลอมนักเรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในทุกมิติ(โรงเรียนคาทอลิก ข้อ 26-27) ทั้งร่างกาย สติปัญญา จิตใจ และจิตวิญญาณ ศาสนาคริสต์เชื่อว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระเจ้า และทรงรักและรับมนุษย์เป็น บุตรของพระองค์มนุษย์ทุกคนจึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนให้เป็นผู้มีเหตุผล ใช้สติปัญญาเพื่อการเรียนรู้ เพื่อสร้างความมีคุณธรรมและพัฒนามโนธรรมสู่ความบริบูรณ์ในฐานะบุตรพระเจ้า มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความสามารถด้านต่างๆ ที่พระเจ้าประทานให้มีอยู่ในตน ซึ่งสามารถพัฒนาให้ปรากฎได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป จนบรรลุถึงความเป็นมนุษย์แท้ที่มีคุณค่า มีความรับผิดชอบ รู้จักควบคุมตนจากภายในและมีความสามารถในการตัดสินใจเลือกและปฎิบัติได้อย่างอิสระและสอดคล้องกับมโนธรรมของตนที่ได้รับการหล่อหลอมขึ้นจากการศึกษาที่มีคุณภาพ (โรงเรียนคาทอลิก ข้อ 31 และ มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ข้อ 99)
การศึกษาเป็นการเดินทางของนักเรียน เป็นกระบวนการของการค้นพบที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆเกิดการเรียนรู้ที่ใหม่กว่า กระจ่างแจ้งกว่าต่อไปโดยไม่มีสิ้นสุด เพื่ออยู่ในเส้นทางที่นำสู่การบรรลุถึงความจริงที่เที่ยงแท้
3. มุ่งพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล
การศึกษาคาทอลิกให้ความสำคัญต่อธรรมชาติของการเรียนรู้ของมนุษย์แต่ละบุคคลซึ่งแตกต่างกัน ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องคำนึงถึงศักยภาพทางร่างกาย สติปัญญาและจิตใจของนักเรียนแต่ละคนตามบริบทของเขา รวมถึงกระแสเรียกของแต่ละคนด้วย (มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ข้อ 63)
การศึกษาคาทอลิกมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้ให้การศึกษาจึงควรเริ่มต้นที่การยอมรับและให้ความเคารพนักเรียนอย่างที่เขาเป็นก่อน แล้วจึงวางแผนจัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลายในหมู่นักเรียน เพื่อให้ใช้กระบวนการที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน อันจะทำให้นักเรียนเชื่อมั่นในความสามารถของตน พบ และเห็นคุณค่าของสิ่งทีเขาเป็นและสามารถทำได้
4. ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอน
การเป็นมนุษย์ คือ การได้รับพระพรแห่งสติปัญญาและอิสรภาพ การศึกษาย่อมไม่ใช่การศึกษาที่แท้จริง หากนักเรียนไม่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและอย่างสมัครใจในการเรียนรู้ของตนนักเรียนควรได้รับการสนับสนุนให้เรียนรู้ด้วยการลงมือทำและตอบสนองด้วยสติปัญญา ความมุ่งมั่น และอารมณ์อันละเอียดอ่อน (มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ข้อ 105) การศึกษาคาทอลิกควรให้ความสำคัญกับการศึกษาแบบมีส่วนร่วม (Co-operative Learning)กล่าวคือ ให้นักเรียนร่วมกันเรียนรู้ด้วยความกระตือรือร้น ทั้งของแต่ละบุคคลและรวมพลังเป็นกลุ่ม— เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน การค้นคว้า การทำแบบฝึกหัด กิจกรรมนอกหลักสูตร กิจกรรมกลุ่ม การสอบ การประชุมในชั้นเรียนและการประชุมใหญ่ของโรงเรียน (มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ข้อ 47)
นักเรียนควรได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างสมัครใจ ในการพัฒนาเป้าหมายทางการเรียนการสอน กระบวนการการเรียนรู้ และได้รับความไว้วางใจที่จะรับมอบหมายให้รับผิดชอบร่วมกันที่จะทำงานจนบรรลุเป้าหมายร่วม เพื่อให้เกิดความภูมิใจในการเรียนรู้ของตนเองของกลุ่มและเจริญเติมโตขึ้นสู่การมีวุฒิภาวะ (มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ข้อ 106)
5. มุ่งให้นักเรียนรู้จักแสวงหาความจริง และเข้าถึงคุณค่าอย่างเป็นองค์รวม
แสงแห่งความเชื่อคริสตชนกระตุ้นให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะแสวงหาความรู้เกี่ยวกับมนุษย์โลกและจักรวาล ในฐานะที่เป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า และปลุกเร้าให้เกิดความรักในความจริงและไม่พึงพอใจเพียงความรู้อันผิวเผินเท่านั้น( มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ข้อ 49)
การศึกษาคาทอลิกมุ่งให้นักเรียนแสวงหาและเรียนรู้เพื่อเข้าถึงความจริงเกี่ยวกับมนุษย์ โลก
และจักรวาล ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่า มนุษย์ โลกและสิ่งสร้างทั้งมวลมาจากพระเจ้า สาระ
ของความจริงเกี่ยวกับมนุษย์ โลกและจักรวาลมีอยู่แล้วและมิได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ความรู้
และความเข้าใจของมนุษย์ในความจริงนี้กระจ่างแจ้งขึ้นตามกาลเวลา จากการสังเกต การค้นคว้า
แสวงหาและประสบการณ์ของมนุษย์ที่สะสมอย่างเป็นระบบ และเป็นกระบวนการอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ด้วยแสงแห่งความเชื่อทีว่า พระเจ้าทรงสร้างและมอบให้มนุษย์เป็นผู้ครอบครอง และดูแล
โลกและสิ่งสร้างอื่นทั้งปวง มนุษย์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องศึกษา ค้นคว้า และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎ
ของโลกและจักรวาล เพื่อมนุษย์จะสามารถใช้ชีวิตร่วมกับสิ่ง สร้างทั้งหลายได้อย่างให้ความเคารพ
ทะนุถนอม และสร้างสังคมที่ดีกว่าให้แก่ชนรุ่นหลัง และเพื่อประโยชน์แก่สังคมโดยรวม
เป้าหมายของการสอนแต่ละวิชามิได้อยู่ที่เพียงทำให้นักเรียนได้รับความรู้ แต่ยังให้นักเรียน
ค้นพบความจริงและเข้าใจในคุณค่าของความจริงนั้น โดยอาศัยประสบการณ์การเรียนรู้ในรูปแบบ
ต่างๆ (โรงเรียนคาทอลิก ข้อ 39) เนื้อหาสาระของวิชาต่างๆ ต้องไม่ได้รับการนำเสนอเป็นเพียง
ข้อมูลความรู้เท่านั้น แต่ยังต้องช่วยให้นักเรียนได้รับการพัฒนาความสามารถและวิจารณญาณใน
การวินิจฉัยว่า สิ่งใดมีคุณค่า สิ่งใดจริง สิ่งใดเท็จ และสามารถเลือกอย่างมีคุณค่าจากการวินิจฉัย
ดังกล่าว (มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ข้อ 57)
นักเรียนควรได้รับการสอนให้สามารถรู้ถึงและใช้ประโยชน์จากกรอบแนวคิดที่เป็นระบบ
ระเบียบที่ถูกพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการแสวงหาความจริง ทั้ง ด้วย
กรอบแนวคิดเชิงนิรนัย (Deduction) และเชิงอุปนัย (Induction)
การศึกษาคาทอลิกมุ่งที่จะช่วยให้นักเรียนมีความสามารถในการแสวงหาและค้นพบความ
จริง จนสามารถค้นพบความหมาย และสัจธรรมด้วยประสบการณ์ของตน (โรงเรียนคาทอลิก ข้อ
27) ไม่ใช่เพียงรู้และรับทราบในความรู้ที่มีอยู่แล้ว กรอบแนวคิดแบบอุปนัย (Induction) เน้นการ
สะสมองค์ความรู้โดยการค่อยๆ ปะติดปะต่อส่วนที่ยังไม่รู้ให้เพิ่มขึ้นจนก่อให้เกิดความรู้ทีแท้จริง
อย่างมีคุณค่าและเป็นองค์รวม
Link เพื่อแชร์ : https://1th.me/0X5vg
ที่มา : หนังสือก้าวไปข้างหน้าด้วยอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก (หน้า28-32)